ก้มหน้าเล่น "มือถือ" เป็นเวลานานเสี่ยง "ออฟฟิคซินโดรม"
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เผยวิธีป้องกัน ออฟฟิศซินโดรม จากการก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต เป็นเวลานาน
นพ.ธรรมสรณ์ เจษฎาเชษฐ์ หรือ หมอตั้ม แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เปิดเผยว่า ทุกวันที่เข้าตรวจจะมีคนไข้มาหาเพราะเรื่องปวดกล้ามเนื้อประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และตำแหน่งที่พบว่ามีอาการปวดมากที่สุด คือ คอ บ่า และสะบัก ซึ่งอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการทำงานนั่งโต๊ะหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ที่เรียกกันว่า “ออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่พนักงานออฟฟิศ แต่ยังเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เล่น สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานเกินไป
โดยท่าทางการทำงาน หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือที่มีลักษณะ ก้มหน้า ไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม จะทำให้กล้ามเนื้อ คอ บ่า สะบัก ทำงานหนัก และหากใช้งานเป็นระยะเวลานานจะเกิดอาการหดเกร็งค้าง ทำให้มีอาการปวดตำแหน่งนั้นและร้าวไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการชาและรู้สึกกล้ามเนื้อล้าได้ง่ายอีกด้วย เช่น หลายคนมีอาการปวดคอ,บ่า แล้วร้าวไปถึงขมับ ปวดสะบักร้าวลงแขน และชาปลายนิ้ว อาการเหล่านี้บางครั้งเข้าใจผิดกันว่าเป็นไมเกรนบ้าง หรือหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทบ้าง โดยปกติน้ำหนักศีรษะประมาณ 12 ปอนด์ หากคอตั้งตรงให้อยู่ในแนวสมดุล แนวของกระดูกสันหลังจะช่วยรองรับน้ำหนักศรีษะ ทำให้กล้ามเนื้อคอ,บ่า ไม่ต้องออกแรงมากนัก แต่หากก้มหน้าออกจากแนวสมดุล เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 นิ้ว จะทำให้กล้ามเนื้อคอ,บ่า ต้องรับน้ำหนักเพิ่ม 10 ปอนด์
สำหรับวิธีการป้องกัน คือ ปรับท่าทางใหม่ให้อยู่ในลักษณะสมดุล คอ และหลังตั้งตรง อกผาย ไหล่ผึ่ง ในช่วงเวลาทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน และขยันยืดกล้ามเนื้อมัดที่จะมีโอกาสหดเกร็งบ่อย ๆ ดังนี้
1.กล้ามเนื้อบ่า นั่ง หรือยืนหลังตรง มือจับศรีษะฝั่งตรงข้ามแล้วค่อย ๆ เอียงตามรูป จนรู้สึกตึงบริเวณบ่า นับช้า ๆ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วพักกลับเข้าสู่ท่าปกติ 3 วินาที ทำแบบนี้คือ 1 เซต ทำ 5 เซตต่อเนื่องกันแล้วสลับข้างเท่ากับ 1 รอบ ทำ5รอบต่อวัน เช้า, สาย, บ่าย, เย็น และก่อนนอน
2.กล้ามเนื้อสะบัก นั่ง หรือยืนหลังตรง เหยียดแขนตรงในระดับหัวไหล่แล้วพับเข้าหาตัว ใช้ข้อมือฝั่งตรงข้ามช่วยล็อคแขนไว้ตามรูป ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณสะบักและปีกหลัง นับค้างไว้ 10 วินาที แล้วพัก 3 วินาที เวลาที่ใช้ในการยืดเหมือนท่าแรก
นอกจากนี้ถ้ามีเวลาอาจประคบอุ่นก่อนยืดกล้ามเนื้อนั้น ประมาณ 15-20 นาที จะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดียิ่งขึ้น แต่หากรักษาด้วยตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมรวมถึงให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และแผนกนี้จะมีนักกายภาพบัด พร้อมทั้งเครื่องมือช่วยลดความเจ็บปวดมากมาย ทำให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น
“นอกจากโปรแกรมการทำกายภาพแล้ว วิธีที่ใช้แล้วเห็นผลเร็วและดีมาก คือการฝังเข็มโดยใช้เทคนิคของฝรั่ง เรียกว่า Dry Needling Therapy ครับ กล่าวคือ เป็นการปักเข็มเล็ก ๆ ผ่านผิวหนัง ให้ปลายเข็มไปสะกิดกล้ามเนื้อที่หดเกร็งอยู่ ให้กระตุกคลายตัวออกมาเลย ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที หลังทำคนไข้จะรู้สึกเบา โล่งขึ้น แต่อาจรู้สึกช้ำบริเวณลงเข็มได้ 1-2 วันค วิธีนี้เหมาะกับคนที่ไม่กลัวเข็มนะครับ แต่หากใครกลัวเข็มเราก็ยังมีทางเลือกการรักษาต่าง ๆ อีกมากเช่นกันครับ เรื่องปวด ๆ ไม่จำเป็นต้องทนครับ” นพ.ธรรมสรณ์ กล่าว